สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชิญชวนคนไทยร่วมชมปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" หรือ "ฝนดาวตกจากกลุ่มดาวสิงโต" ที่หวนกลับมาให้เห็นกันอย่างชัดเจน-จุใจอีกครั้ง 17-18 พฤศจิกายน!
กลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากพื้นโลกมากบ้างน้อยบ้าง โดยปีที่มองเห็นสูงสุดต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2541 และ 2544
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากเศษซากหลงเหลือของ "ดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล"
มีวงโคจรรอบ "ดวงอาทิตย์" เป็นวงรี โดยหนึ่งรอบใช้เวลา 33.2 ปี
และทุก ๆ 33 ปี ดาวหางดวงนี้จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้เกิดฝนดาวตกมากเป็นพิเศษ เรียกว่า "พายุฝนดาวตก" (Meteor Storm) ซึ่งการโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 และจะเข้าใกล้ครั้งต่อไปในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2556
อย่างไรก็ตาม สำหรับเดือนนี้ นักดาราศาสตร์พยากรณ์ว่า คนไทยทั่วทุกพื้นที่ของประเทศจะมีโอกาสชม ฝนดาวตกลีโอนิดส์นับร้อยดวงแบบชัด ๆ อีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 17 ต่อเนื่องไปจนถึงรุ่งเช้า 18 พฤศจิกายน เหตุเพราะเวลาเกิดปรากฏการณ์ตรงกับ "คืนเดือนมืด" พอดิบพอดี
โดยช่วงเวลาที่คาดว่าจะมองเห็นฝนดาวตกสูงสุด คือ เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน ตกราว ๆ 150-160 ดวงต่อชั่วโมง
ขณะที่ "เจเรอมี่ โวเบลลอน" นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ช่วงก่อนตีห้าเล็กน้อยตามเวลาประเทศไทย ถ้าโชคดีชาวโลกอาจได้เห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ร่วม ๆ 500 ดวง พุ่งสว่างวาบบนฟากฟ้า!
"นับเป็นความโชคดีที่จะได้ชมปรากฏ การณ์ฝนดาวตกในปีนี้ เนื่องจากวันที่ 17-18 พฤศจิกายน เป็นคืนเดือนมืด ท้องฟ้าค่อนข้างมืดสนิท แต่เหตุการณ์ฝนดาวตกช่วงที่ตกมากนั้นค่อนข้างสั้น และเกิดก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น 1 ชั่วโมงเท่านั้น" ประณิตา เสพปันคำ เจ้าหน้าที่สำนักบริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. ระบุ
สำหรับสถานที่ที่เหมาะสมกับการดูฝนดาวตกลีโอนิดส์ ถ้าจะให้ดีควรเป็นจุดที่ไม่มีแสงไฟรบกวน หรือห่างจากเมืองใหญ่ไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร หันหน้าไปทางดาวเหนือ ส่วนการถ่ายภาพควรตั้งความไวแสง ISO 400-800 ถ้าใช้กล้องสองตาควรมีหน้าเลนส์ไม่ต่ำกว่า 50 มิลลิเมตร และกำลังขยาย 7 เท่าขึ้นไป